ภาพน่ารัก

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การฝึกระเบียบวินัย

การอบรมจิตใจและการฝึกระเบียบวินัย      ความสำคัญอยู่ที่ว่าเรามีความสัมพันธ์กับลูกมากน้อยเพียงใด ความรักและความผูกพันมีความสำคัญมากกว่าความพยายามหาวิธีต่างๆมาอบรมลูกดังนั้นการไวต่อความรู้สึก ความต้องการของลูก เป็นเรื่องที่พ่อแม่จะต้องพยายามที่จะเข้าใจให้ลึกซึ้งและยังต้องสอนลูกให้นึกถึงผลของพฤติกรรมของเขาต่อผู้อื่นและคนรอบข้างให้มาก เราเรียกวิธีการฝึกแบบนี้ว่า วิธีการอบรมลูกแบบรักและผูกพัน
    ทุกวันนี้หากเรามาวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวินัยและระเบียบสังคม เมื่อสืบสาวหาต้นตอจะได้ความว่า เป็นเพราะความเฉยชาต่อความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น การปรับพฤติกรรมของลูกจึงควรจะเน้นเรื่องความสำคัญของความใกล้ชิด การให้เวลาอย่างมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างพ่อแม่และลูกเกิดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อธิบายให้เห็นความดี ความงามและความถูกต้อง เป็นกำลังใจให้ลูก เรียกว่าเป็นวิธีปฏิบัติโดยอาศัยความรัก ความผูกพันระหว่างพ่อ-แม่-ลูก เป็นหลัก

รูปแบบการอบรมจิตใจและฝึกระเบียบวินัยชนิดต่างๆ 

   เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการอบรมลูกแบบรักและผูกพัน เรามาดูวิธีที่ใช้กันทั่วๆไปในการอบรมลูก วิธีต่างๆที่ใช้กันพอจะประมวลได้เป็นสามรูปแบบด้วยกันคือ แบบใช้อำนาจ แบบการสื่อสาร และแบบการเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งสามรูปแบบเป็นคำแนะแนวสำหรับปรับพฤติกรรมเด็ก ซึ่งแต่ละรูปแบบมีจุดแข็งและจุดอ่อนทั้งนั้น อย่างไรก็ตามทุกรูปแบบมีประโยชน์ตามสถานการณ์ และเวลา แม้ว่าแต่ละรูปแบบจะไม่เพียงพอและเหมาะสมที่จะใช้ในทุกเวลาและสถานการณ์

รูปแบบการอบรมแบบใช้อำนาจ

    รูปแบบนี้เป็นวิธีการอบรมที่ใช้กันเป็นประเพณีมานาน เน้นการใช้อำนาจ พ่อแม่เป็นผู้สั่งให้ลูกทำตาม หากเด็กไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกลงโทษ ผู้ใหญ่มักจะอ้างว่าตัวเองมีอำนาจในฐานะพ่อหรือแม่ คำพูดที่มักได้ยิน ได้แก่ “ฉันเป็นพ่อ และลูกก็เป็นแค่เด็ก ฉันว่าอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ทำตามฉัน ฉันจะแสดงให้เห็นว่าใครใหญ่ในบ้านนี้” การอบรมลูกรูปแบบนี้แม้ในบางครั้งอาจจะจำเป็นก็ตามแต่ก็ไม่เหมาะสม

ส่วนที่ดีของการใช้อบรมแบบใช้อำนาจคือ 
     เป็นการแสดงว่าพ่อแม่ต้องรับผิดชอบลูกตัวเอง ลูกอาจต้องการต้นแบบการใช้อำนาจในบางครั้งว่าจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ดังนั้นรูปแบบการใช้อำนาจยังเป็นส่วนสำคัญในการอบรมและฝึกระเบียบวินัยลูกอยู่ อย่างไรก็ตาม การอบรมเลี้ยงดูด้วยวิธีนี้อาจเกิดปัญหา เรื่องหนึ่งก็คือ ลูกอาจไม่รู้ว่าพ่อแม่ทำด้วยความรัก เด็กอาจรู้สึกกลัวอำนาจของพ่อแม่และส่งผลต่อเขาในวัยผู้ใหญ่


รูปแบบการใช้อำนาจอาจไม่ได้ผล ด้วยเหตุหลายประการประการแรก
คือ พ่อแม่มักเน้นหรือลงโทษในสิ่งที่ลูกทำไม่ดี ทำให้ลืมหรือมองข้ามสิ่งดีๆของลูกไป พ่อแม่จะไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะสนิทสนมกับลูกตัวเอง เพราะมัวแต่ใช้อำนาจลงโทษลูก


ประการที่สอง
คือ เด็กจะประพฤติตามที่พ่อแม่สั่ง แต่เขาจะรู้สึกไม่พอใจ คับข้องใจ การเป็นเช่นนี้บ่อยๆเข้า ทำให้เขาต้องอดกลั้นควบคุมตนเองและเก็บกดไว้ เมื่อไรก็ตามที่เขาไม่สามารถควบคุมตนเองไว้ได้เขาอาจแสดงความก้าวร้าวออกมารุนแรง หรือที่เรียกว่าน๊อตหลุด

ประการที่สาม
คือ เด็กจะไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆเพราะสิ่งที่เขาทำไปนั้นจะทำเพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่และไม่ได้อยู่ในการดูแลของพ่อแม่แล้ว เขาจะไม่มีระเบียบวินัยหรือขาดแรงจูงใจที่จะควบคุมตนเองเพราะไม่มีการขู่ ถึงผลร้ายที่ตามมาอย่างที่เคยชินในสมัยเด็ก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น